หนังสือชวนอ่าน
แหล่งรวบรวมหนังสือในรูปแบบ e-book ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี เพื่อประโยชน์ต่อวงการศึกษาของไทย (เลือกที่ชื่อหนังสือเพื่ออ่านและดาวน์โหลดฟรี !)
ส่วนที่ 1: หนังสือจากหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา & เพาะพันธุ์ปัญญาอะคาเดมี
เรียนน้อย ร้อยรู้ (raw version)
เรียนน้อย ร้อยรู้ (raw version)
หนังสือเล่มนี้โดยชื่อคืออย่าไปจมกับเนื้อหาวิชา โดยไม่รู้ว่าความรู้นั้นใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร การเรียนให้น้อย แต่ได้ผลการเรียนรู้มากมายทำได้อย่างไร ? คำตอบอยู่ที่เรียนรู้จากประสบการณ์ปฏิบัติ หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ต้องการฉาย Spotlight ลงพื้นสนามความคิดการสอนโครงงาน (หรือ IS) ให้สว่างจ้าเห็นทุกซอกเหลือบของปัญหาการสอนโครงงาน แล้วหันดวงโคม Spotlight ไปยังหัวใจของการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experimential Learning) ซึ่งเป็นหลักการของการทำโครงงานฐานวิจัยของเพาะพันธุ์ปัญญา
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
เพาะพันธุ์ปัญญาอะคาเดมี
(กรกฎาคม 2566)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 933 KB)←
สะเต็มวิพากษ์
สะเต็มวิพากษ์
ปัญหาใหญ่ของการสอนโครงงานสะเต็ม คือ ครูไม่ทราบว่าจะยกระดับ โครงงานวิทยาศาสตร์ให้เป็นสะเต็มได้อย่างไร เราจึงเห็นโครงงานสะเต็มที่ไม่ต่างจากโครงงานวิทยาศาสตร์ ผมเชื่อว่าเพราะครูขาดความเข้าใจการสร้างเทคโนโลยี (T) ในมุมมองของวิศวกรรมศาสตร์ (E) จึงไม่กล้าสอนออกนอกแนวทางของรูปแบบและขั้นตอนตามที่ได้รับการถ่ายทอดมา การยึดติดกับรูปแบบทำให้ขาด “วิญญาณ” วิศวกรรมศาสตร์ที่ต้องพลิ้วไปกับบริบทในโลกแห่งความเป็นจริงของการพัฒนาเทคโนโลยี (T) โครงงานสะเต็มที่เสนอ T จึงขาดฐานคิดของ E และในที่สุดจึงไม่ต่างกับโครงงานวิทยาศาสตร์ ทุกบทความในเล่มนี้จึงพยายามสร้างความเข้าใจการเรียนรู้และการสอนโครงงานสะเต็มในมุมมองของวิศวกร และหลีกไม่พ้นที่ต้องวิพากษ์สิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ จึงขอให้ครูปลดเปลื้องพันธนาการสะเต็มที่มีอยู่ แล้วอ่านอย่างใคร่ครวญ
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
(เมษายน 2566)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 3.4 MB)←
เมื่อปลูกจึงปลุกฝัน นิจนิรันดร์ฉันค้นหา
เมื่อปลูกจึงปลุกฝัน นิจนิรันดร์ฉันค้นหา
“เมื่อปลูกจึงปลุกฝัน… นิจนิรันดร์ฉันค้นหา” เป็นข้อเขียนที่มีหลายรสชาติของการศึกษาในมุมมอง
ของผม ตามจังหวะของเหตุการณ์รอบตัวที่ปลุกความฝันออกมาเป็นเสียงสะท้อนในเฟซบุ๊ก
ช่วงมกราคม 2563 – มีนาคม 2564 เมื่อปิดโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา
(หนังสือในโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ภายใต้การสนับสนุนของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และ มหาวิทยาลัยพะเยา)
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
(สิงหาคม 2565)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 9.7 MB)←
ครูถือคบไฟเด็กไต่ขึ้นภู
ครูถือคบไฟเด็กไต่ขึ้นภู
“ครูถือคบไฟ เด็กไต่ขึ้นภู” เป็นหนังสือแนะแนวทางการจัดกระบวนการสอนแบบที่ครูเป็น coach
สอนโครงงานฐานวิจัยที่ค่อย ๆ ก่อนั่งร้านตามลำดับจากง่ายไปสู่ซับซ้อน จากระดับประถมสู่
มัธยมศึกษา
หนังสือในโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ภายใต้การสนับสนุนของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และ มหาวิทยาลัยพะเยา
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
(กันยายน 2564)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 37.8 MB)←
จากรากแก้วสู่ผลสู่ต้นเพาะพันธุ์ปัญญา
จาก “กล้า บ้า กลัว สู่ “รื่นรมย์ปิติ”
เพาะพันธุ์ปัญญามีจุดตั้งต้นจากประสบการณ์ 10 ปี (2545-2555) ในโครงการยุววิจัย สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ประสบการณ์สอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ทำให้ผมเห็นศักยภาพ ของการแก้ปัญหาที่มีปลายเปิด (open-end solution) การเข้าไปคลุกคลีกับครูในโครงการยุววิจัยยางพาราทำให้ผมตระหนกในการสอนโครงงานของครู ความตระหนกเปลี่ยนเป็นความตระหนักว่า เราช่วยการศึกษาได้ ถ้าเรามีโอกาสเข้าไปช่วยงานการศึกษาในส่วนที่ครูต้องทำอยู่แล้ว การช่วยคือ การ empower ทางความคิดการทำโครงงานแก่ครู ให้การทำโครงงานเป็นการเรียนรู้ของนักเรียน
จากการค้นคว้ากระบวนการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการสอนโครงงานของครู ผมเห็นความเป็นไปได้ทางกลยุทธ์การทำงานกับครู การลองผิดลองถูกของกลยุทธ์ต่าง ๆ ในโครงการยุววิจัย ได้ถูกทดสอบครั้งใหญ่ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เพราะมีงานเพิ่มที่ต้องพัฒนาทีมงานให้ขยายผล เป็น 800 โครงงานต่อปี มากกว่าโครงการยุววิจัยยางพาราที่ทำเพียงปีละ 50 โครงงาน
ในวันปิดโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่จังหวัดน่าน เมื่อ 11 พฤษภาคม 2562 ผมสรุปความรู้สึกของการทำงานนี้ว่า “จากกล้า บ้า กลัว สู่รื่นรมย์ปิติ” ส่วนจะเป็นเช่นใดนั้นขอเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมประสบการณ์เหล่านี้ได้ผ่านหนังสือเล่มนี้
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
(กุมภาพันธ์ 2563)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 18.6 MB)←
การสร้างสายสัมพันธ์กัลยาณมิตร เพาะพันธุ์ปัญญาเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่
การสร้างสายสัมพันธ์กัลยาณมิตร เพาะพันธุ์ปัญญาเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่
สายสัมพันธ์กัลยาณมิตรถูกสร้างเป็นวัฒนธรรมที่เปิดพื้นที่เรียนรู้แบบเพาะพันธุ์ปัญญาในโรงเรียน ซึ่งอธิบายด้วยการสะท้อนคิดพลังความรักที่ครูมีต่อศิษย์ที่กลายมาเป็นพลังปัญญาที่เรียนรู้ร่วมกัน และเมื่อเกิดผลเชิงประจักษ์จึงเป็นหนทางของศรัทธาที่ยิ่งหลอมรวมความเป็นกัลยาณมิตรให้แน่นแฟ้น จนขยายผลเป็นเครือข่ายนอกโรงเรียน หนังสือของศูนย์พี่เลี้ยง มรภ.ลำปางเขียนแบบถอดบทเรียนจากข้อเขียนสะท้อนคิดอธิบายการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงตนเองของครูและนักเรียน
ศูนย์พี่เลี้ยงฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
(ตุลาคม 2562)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 8.8 MB)←
ยืนหยัดอย่างยั่งยืน : กล้าแกร่งที่แกร่งกล้าจากการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา
เป็นหนังสือเขียนโดยทีมพี่เลี้ยง ม. พะเยา สะท้อนคิดการจัดการศึกษาแบบเพาะพันธุ์ปัญญาใน 4 โรงเรียนแกนนำที่มีความต่างกัน จากโรงเรียนที่ปั้นเด็กไปคว้ารางวัลระดับโลก เรื่อยมาถึงโรงเรียนชายของของชนเผ่าที่ให้เด็กทำงานกับบริบทจริงของการทำมาหากิน เลาะเข้าหาโรงเรียนที่นักเรียนเกาะกุ่มเกี่ยวสัมพันธ์อย่างแข็งแกร่งในโรงเรียนจากกิจกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา โดยอธิบายว่าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามีบทบาทขับเคลื่อนให้เกิดผลได้อย่างไร
(บทสังเขปโดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์)
ศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
มหาวิทยาลัยพะเยา
(ตุลาคม 2562)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 5.9 MB)←
คุรุควรคาวระ
เมื่อโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาสิ้นสุดลง กล้าพันธุ์แห่งปัญญายังคงเติบโตงอกเงยอย่างสง่างามอันเป็นผลจากแรงกายแรงใจที่ “พี่เลี้ยง” ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ถ่ายทอดเคล็ดวิชามายัง “ครู” เพื่อส่งต่อไปยังนักเรียน หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่าง พี่เลี้ยง-ครู ในบทบาทของ ครู-ศิษย์ ที่เป็นกัลยาณมิตร เรื่องราวประสบการณ์ของพี่เลี้ยงและครูจะเป็นเครื่องยืนยันว่าการพัฒนานักเรียนจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องอาศัยความร่วมมือ และความอดทนในการรอคอยความสำเร็จ
เรื่องราวที่หลากหลายในหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นว่าจุดเริ่มต้นของพี่เลี้ยงและครูเพาะพันธุ์ปัญญามีปัญหาที่ต้องจัดการแตกต่างกันไป ตั้งแต่การทลายกำแพงสูงที่หลากหลาย ไปจนถึงเหตุแห่งความสำเร็จอันงดงามอย่างครบวงจรตามแบบโรงเรียนในอุดมคติ ซึ่งแม้ว่าทั้งหมดนี้จะวัดค่าความสำเร็จเป็นตัวเลขได้ยาก แต่เมื่อใดก็ตามที่เห็นความครูเปลี่ยน นักเรียนเปลี่ยน นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะกล่าวว่าเป็นความสำเร็จในแบบฉบับของเพาะพันธุ์ปัญญา
เรื่องโดย: พิมพลอย รัตนมาศ และ แก้วขวัญ เรืองเดชา
(ตุลาคม 2562)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 117.8 MB)←
รู้จักเด็กจากโครงงาน – การพัฒนาทักษะแห่งอนาคตในชั้นเรียน RBL
เป็นหนังสือที่ทีมพี่เลี้ยง สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งใจรวบรวมหลักฐานและรายละเอียดเพื่อให้คนอ่านรู้จัก “วิธีการ” รู้จักเด็กจากโครงงาน จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การรวบรวมตัวอย่างที่เป็นแก่นโครงงานนักเรียนมาอธิบายให้ผู้อ่านทราบหลักในการทำความรู้จักตัวเด็ก ความคิดเด็ก และสามารถประเมินผลสัมฤทธิ์การศึกษาได้ ผู้เขียนใช้ความเข้าใจศาสตร์การเรียนรู้และหลักคิดวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์ผลงานนักเรียนแล้วจัดหมวดหมู่ความรู้อย่างเป็นระเบียบ พร้อมตัวอย่างชัดเจน สามารถแปลงหลักการเพาะพันธุ์ปัญญามาอธิบายสถานการณ์การเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัย (RBL) ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้อ่านเข้าใจแก่น RBL อย่างถ่องแท้ เป็นหนังสือที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับครูสอนโครงงาน (บทสังเขปโดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์)
ศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้
มหาวิทยาลัยมหิดล
(ตุลาคม 2562)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 9.1 MB)←
ทักษะของกระบวนกรเพื่อการเรียนรู้
ครูต้องเป็นผู้อำนวยการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ อีกนัยหนึ่งการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ต้องมี “กระบวนกร” ดำเนินการ เล่มนี้เป็นหนังสือที่พี่เลี้ยงศูนย์มูลนิธิปัญญาวุฑฒิเขียนแบบ “ตั้งใจออกแบบ” ให้เข้าใจการเป็นกระบวนกรเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างละเอียด เป็นหนังสือที่เขียนผสมผสานการค้นคว้ามาเล่าและการนำเสนอแนวคิดหรือหลักการของตนเองที่ตกผลึกจากปฏิบัติการเพาะพันธุ์ปัญญากว่า 6 ปีได้อย่างน่าสนใจ ตลอดเล่มมีข้อชวนคิดเหมือนกำลังทำหน้าที่เป็นกระบวนกรถามคนอ่าน ให้ผู้อ่านเรียนรู้ไปพร้อมกับคำถามชวนคิดเหล่านี้ จึงไม่เป็นเพียงหนังสือกึ่ง How-to ที่ครูเอาไปใช้ได้เท่านั้น แต่เป็นหนังสือที่ต้องอ่านอย่างพินิจเพื่อเข้าใจการออกแบบกระบวนการสร้างปัญญาแบบชวนคิดอีกด้วย (บทสังเขปโดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์)
คงวุฒิ นิรันตสุข
(ตุลาคม 2562)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 6.6 MB)←
หลักการเขียนบทความวิชาการ: หลักการคิดถอยหลังเพื่อเริ่มต้นให้ถูกต้อง
ในความคิดของนักวิจัยนั้น งานวิจัยเริ่มต้นจากการเขียน Proposal และจบลงที่การเขียนผลงานตีพิมพ์ แต่ในความคิดของ “คนอื่น” ที่นักวิจัยต้องเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุนหรือวารสาร เขาคิดไกลกว่านั้น แหล่งทุนคิดถึงการจัดการเพื่อให้ได้งานที่ได้ใช้ประโยชน์ วารสารคิดถึงเป้าหมายคนอ่าน จะเห็นว่าทั้งแหล่งทุนและวารสารที่เป็นต้นทางและปลายทางของงานวิจัยนั้นในความคิดของนักวิจัยนั้น เขาคิดต่อไปถึงผู้อื่น … ผู้ที่อยู่ปลายทางแท้จริง เพราะ KPI เขาขึ้นกับคนที่อยู่ปลายทาง ดังนั้น การเขียนข้อเสนอโครงการและการเขียนบทความวิชาการย่อมต้องคิดถึง “คนปลายทาง” เป็นหลัก ไม่ใช่เอาความสนใจของตนเองเป็นต้นทาง ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงต้องเข้าใจหลักการ “คิดถอยหลังเพื่อเริ่มต้นให้ถูกต้อง” ถอยมาจากความต้องการและความสนใจของคนอื่น
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
(กันยายน 2553)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 1.4 MB)←
เขียนคือคิด
การทำวิจัยแก้ปัญหาใกล้ตัวคือการศึกษาเพราะได้พัฒนากระบวนการคิดจนเกิดเป็นปัญญา และกระบวนการสำคัญของการพัฒนาปัญญา คือ การนำเสนอ การเขียนเป็นวิธีการนำเสนออย่างหนึ่งที่ขัดเกลาความคิดให้แหลมคม เพาะพันธุ์ปัญญาจึงมี motto “เขียนคือคิด”
คนจำนวนมากเข้าใจ “เขียนจากคิด” ว่าคิดขึ้นมาก่อนแล้วเขียน แต่ไม่เข้าใจว่า “เขียนคือคิด” ที่มีความหมายใช้เขียนเป็นเครื่องมือให้เกิดคิดนั้นเป็นอย่างไร หนังสือเพาะพันธุ์ปัญญาเล่มนี้ต้องการทำความเข้าใจแก่ชนชาวเพาะพันธุ์ปัญญาให้เข้าใจคาถาข้อที่ 3 ของเรา “เขียนคือคิด” เป็นเรื่องราวที่อ่านทำความเข้าใจยากพอควร ผมขอให้ครูพยายามอ่านและคิดตามเพื่อเข้าใจคาถาข้อที่ 3 และเอาไปใช้กับตนเองให้คล่องและจัดกระบวนการสอนให้นักเรียนพัฒนาความคิดจากการเขียนต่อไป
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
(พฤษภาคม 2562)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 12.8 MB)←
กล้าพันธุ์ผู้ก้าวพ้น
เมื่อใกล้สิ้นสุดโครงการฯ เราประจักษ์แจ้งกับนักเรียนจำนวนมากที่เป็นตัวแทนบอกเล่าถึงความสำเร็จ ไม่มีวิธีใดบอกได้ดีเท่ากับการให้คนนอกได้สัมผัสเรื่องราวของนักเรียนแล้วสกัดออกมา หนังสือเชิงสารคดีชีวิตนักเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาเล่มนี้เขียนโดย คุณพิมพลอย รัตนมาศ ผู้เป็นครูโดยอาชีพ และคุณแก้วขวัญ เรืองเดชา การได้คลุกคลีกับนักเรียนทำให้ผู้เขียนเห็นความแตกต่างของนักเรียนที่ผ่านกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาได้ชัดกว่าผู้ใด
จากการคัดเลือกนักเรียนขั้นแรกจำนวน 30 คน เพื่อให้ผู้เขียนหาข้อมูลเบื้องต้น แล้วจึงคัดเหลือ 10 คน ที่มีความหลากหลายทั้งประสบการณ์เพาะพันธุ์ปัญญาและวัยวุฒิ มีตั้งแต่นักเรียน ม.2 ที่ได้รับการปูพื้นฐานเพาะพันธุ์ปัญญาตั้งแต่ประถมศึกษา ไปจนถึงผู้ที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา ผมตั้งเงื่อนไขกับผู้เขียนว่าให้เลือกเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นหลัก ให้มีการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย เขียนให้เห็นกระบวนการของเพาะพันธุ์ปัญญาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น
ส่วนหนึ่งจากคำนำโดย
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
หัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
พิมพลอย รัตนมาศ และ
แก้วขวัญ เรืองเดชา (เมษายน 2562)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 26.8 MB)←
SEEEM มิติใหม่ของการผสานสะเต็มและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการศึกษา
ในกระแสการศึกษาที่มีหน่วยงานหลักขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ของโลกที่ทําาให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่สนใจระดับสหประชาชาติ (UN) และเป้าหมายการ สร้าง character และปรับ mindset คนไทย 4.0 ให้มี “จิตวิทยาศาสตร์” ของรัฐบาล เพาะพันธุ์ปัญญา ระยะที่ 2 จึงเสนอวาทกรรมการศึกษาใหม่ “การเรียนรู้ด้วยโครงงาน Research-Oriented SEEEM Project”
SEEEM คือ การแปลงโฉม STEM ที่เอา Economics และ Ecology มาแทน Technology เพราะเพาะพันธุ์ปัญญาเชื่อในเป้าหมายการศึกษาที่เป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์มากกว่าวัฒนธรรมเทคโนโลยี วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์คือการเข้าใจเหตุและผลตามความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นวัฒนธรรมที่ต้องการทราบเหตุ เพื่อสร้างความเข้าใจในปรากฏการณ์แห่งผล สร้างความตระหนักรู้ว่า หากต้องผลใด ต้องสร้างเหตุและปัจจัยให้สอดคล้องกับผลที่ต้องการ ส่วนวัฒนธรรมเทคโนโลยีต้องการเพียงเสพส่วนผลโดยไม่สนใจเหตุอันเป็นที่มาของผลนั้น ปัญญาเกิดได้สูงกว่าเมื่อการศึกษาสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ในกระบวนทัศน์ของคนจนฝังลึกเป็น “จิตวิทยาศาสตร์”เมื่อเอา Economics และ Ecology มารวมกับ Engineering เราจะได้การศึกษาที่เข้าใจการพัฒนาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นกระบวนการของชีวิตมากขึ้น โดยจัดการให้ Engineering ยอมอยู่ในกำกับของ Economics ที่มีสมดุลของ Ecology เป็นเงื่อนไข ดังนั้น Engineering ใน SEEEM จึงลึกซึ้งข้ามพรมแดนความคิดหรือศาสตร์ของผู้สร้าง Technology ใน STEM
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (กุมภาพันธ์ 2562)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 28 MB)←
หลักการสร้างการเรียนรู้จากโครงงานวิทยาศาสตร์และสะเต็ม
โครงงานมีภาพลักษณ์เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อแข่งขันเอารางวัลมาช้านาน จนถูกตั้งคำถามว่านักเรียนได้เรียนรู้จากการทำโครงงานหรือเป็น nominee ของครู ในการล่ารางวัลกันแน่?เมื่อมีสะเต็มศึกษาและมาตรฐานการศึกษา ว. 4.1 ยิ่งเกิด คำถามว่าครูจะสอนโครงงานเพื่อเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างไร? เราจะเปลี่ยน mindset การสอนโครงงานแบบเดิมให้เป็นการบูรณาการสาระ เพื่อสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร? โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นการหาความรู้ใน
“โลกแห่งความจริง” แต่โครงงานสะเต็มเป็นการบูรณาการความรู้ใน” โลกแห่งความเป็นจริง” หากขาดการคิด แบบวิศวกร … การทำโครงงานสะเต็มย่อมไม่มีความเป็นจริงของชีวิต หนังสือเล่มนี้ให้คำตอบแก่ครูที่ต้องการ สอนโครงงานให้บรรลุมาตรฐาน ว. 4.1
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (พฤศจิกายน 2561)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 37 MB)←
เพาะพันธุ์ปัญญาด้วย PLC
การเรียนรู้ที่ดีคือเรียนรู้จากประสบการณ์วิธีพัฒนาครูที่ดีที่สุดคือให้ครูเรียนรู้กันเองโดยเอาที่ครูเรียนรู้จากประสบการณ์มาสู่กระบวนการสร้างการเรียนรู้ของกลุ่มครู เราเรียก PLC ดังนั้น PLC จึงสำคัญที่ตัว L การประเมินการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment, FA) ทั้ง PLC และFA คือกิจกรรมที่ทำให้ครูฟื้นศักดิ์ศรีการเป็นครูกลับมา ศักดิ์ศรีครูหายไปเพราะผู้เกี่ยวข้องการศึกษาปรามาสพลังพัฒนาตนเองของครู อีกทั้งมี mindset เพียงว่าต้องเอาผู้ทรงคุณวุฒิจากข้างนอกมาอบรมครู แม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์สอนจริงในห้องเรียน หนังสือ “เพาะพันธุ์ปัญญาด้วย PLC” เล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน คือ อธิบายการจัดการ PLC ที่ใช้หลักการ FA ที่มีการจัดการความรู้ (Knowledge Management, KM) เป็นเครื่องมือ และตอนที่ 2 เขียนจากประสบการณ์ภาคสนามของPLC ในมุมมองของพี่เลี้ยงในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเอง
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ และ คงวุฒิ นิรันตสุข (มีนาคม 2561)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 5 MB) ←
รอยจารึกบนเส้นทางครูเพาะพันธุ์ปัญญา
ครูคือบุคคลสำคัญที่สุดของระบบการศึกษา โครงการเพาะพันธุ์ปัญญามีเป้าหมายพัฒนาครู มีคุณครูจำนวนมากที่เป็นตัวแทนความสำเร็จในจำนวนนี้ครู 24 ท่านได้รับเลือกให้เป็นครูปัญญาทีปกรเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งแปลว่าครูผู้เป็นแสงสว่างแห่งปัญญาของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงบอกเล่าความรู้สึกจากประสบการณ์ของครู 24 ท่านที่ใช้ศรัทธาต่ออาชีพครูฝ่าฟันสอนโครงงานฐานวิจัย (RBL) แต่ยังแผงด้วยข้อเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาไทยผ่านการพัฒนาครู ที่เราได้ยินจากปากครูชัดเจนมากคือ “ขอจิตวิญญาณของครูคืนมาแล้วครูจะเป็นบุคคลเรียนรู้ ครูจะเปลี่ยนการศึกษาด้วยครูเอง” อะไรคือเครื่องมือสำคัญของเพาะพันธุ์ปัญญา? ทั้งสิ้นทั้งมวลออกมาจากคำสัมภาษณ์ของครู 24 ท่าน ในหนังสือเล่มนี้
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ และ คณะครูปัญญาทีปกรเพาะพันธุ์ปัญญา (มีนาคม 2560)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 41 MB) ←
ถอดรหัสการสอนสะเต็ม
เป็นหนังสือลำดับที่ 4 ของสะเต็มศึกษา ที่ชี้ให้เห็นว่าสะเต็มศึกษาที่เป็นของไทยเองน่าจะเป็นอย่างไร แต่ก่อนจะถึงจุด “น่าจะเป็นอย่างไร” เราต้องรู้ก่อนว่าครูสะเต็มต้องพัฒนาไปในทิศทางใด มีทักษะอะไร ได้ทักษะอย่างไรหนังสือเล่มนี้ไขรหัสทักษะครูสะเต็มแบบไทยๆ ประกอบด้วย 3 บท ที่กล่าวถึงความเข้าใจสะเต็มที่แตกต่าง ทักษะการเป็นครูสะเต็ม การถอดรหัสลีลาครูสะเต็มจากประสบการณ์ และแนวคิด RBL ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาและจากคู่มือกิจกรรมสะเต็มของ สสวท. ฉบับเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2559 เป็นหนังสือทางเลือกของการเป็นครูสะเต็มที่จะปลุกพลังทางความคิดและปัญญาให้แกร่ง… จนกล้าแผ้วถางทางด้วยตนเอง อ่านแล้วเหมือนมีไฟฉายกำลังสูงในทางมือเปลี่ยวเดียวดายของเส้นทางการเป็นครูสะเต็ม
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (สิงหาคม 2559)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 9 MB) ←
การเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่ครบถ้วน: เป้าหมายสูงสุดของสะเต็มศึกษา
หนังสือเล่มนี้พยายามขยายความสะเต็มศึกษาในส่วนที่ขาดหายไป คือส่วนการเข้าใจวิทยาศาสตร์ในมิติการพัฒนาปัญญาภายในของมนุษย์ ชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติภายในมนุษย์อยู่ภายใต้กฎเดียวกับธรรมชาติภายนอกมนุษย์ มนุษย์ใช้หลักความเข้าใจเหตุและผลสร้างปัญญาภายนอก จนสามารถเปลี่ยนวิทยาศาสตร์ให้เป็นเทคโนโลยีรับใช้ความสุขจากการเสพของมนุษย์ ซึ่งเป็นมรรควิถีของสะเต็มศึกษาทั่วโลก อีกมุมหนึ่งของการศึกษาวิทยาศาสตร์คือ การใช้หลักเดียวกันนี้พัฒนาปัญญาภายใน เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เป็นสุข หากเจตนาจะให้สะเต็มศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาปัญญามนุษย์อย่างเต็มที่ กระบวนการทำโครงงานต้องให้เกิดปัญญาที่เห็นธรรมชาติและมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นระบบในสภาวะสมดุล เข้าใจธรรมชาติภายในของตนเองก่อน พัฒนาปัญญาภายในของตนเอง แล้วจึงประยุกต์ใช้ปัญญาภายนอก
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (มิถุนายน 2559)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 20 MB) ←
สะเต็มศึกษา: ปัญญาจากกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม
การออกแบบเชิงวิศวกรรมเป็นหัวใจของสะเต็มศึกษา เพราะเป็นกระบวนการแก้ปัญหา ที่บูรณาการศาสตร์ความรู้เข้าสู่ความต้องการและความสอดคล้องกับบริบท หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์และวิพากษ์การใช้ Engineering design process ที่กำลังดำเนินอยู่ในการอบรมครูให้นำไปใช้สอนสะเต็ม ว่าเป็นการเข้าใจผิดในสาระการออกแบบเชิงวิศวกรรม การออกแบบเชิงวิศวกรรมต้องการ approach ที่ต่างจากที่คุณครูทั้งหลายกำลังถูกใส่ชุดความคิดว่า เป็นกิจกรรมที่ท้าทายและบีบคั้นจากการแข่งขันเหมือนเกมโชว์ ข้อเขียนในหนังสือจะให้ความเข้าใจใหม่ว่า การออกแบบเชิงวิศวกรรมเกิดจากกระบวนการคิดที่เข้าใจหลักการอันเป็นกฎธรรมชาติอย่างลึกซึ้งก่อนแล้วแตกย่อยเป็นรายสาระวิชา ที่เอามาแก้ปัญหาที่ท้าทายความต้องการเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งผมเชื่อว่าจะสร้างการเรียนรู้สะเต็มอย่างถูกต้อง
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (กุมภาพันธ์ 2559)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 12 MB) ←
กระบวนการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากการทำโครงงาน
มนุษย์สร้างสังคมและเศรษฐกิจจากกิจกรรมที่ใช้ประโยชน์จากการพิชิตธรรมชาติ การเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเริ่มด้วยการเข้าใจระบบธรรมชาติ หนังสือเล่มนี้ตีความปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางของสภาวธรรม (ชาติ) ใช้การทำโครงงานเกษตรอินทรีย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากความสมดุลในสภาวะที่กำลังเปลี่ยนแปลง เห็นสรรพสิ่งในธรรมชาติประกอบเป็นระบบพลวัติ ที่ทุกอย่างกำลังอยู่ในสภาพสมดุลในขณะใดขณะหนึ่ง แต่ขณะใดขณะหนึ่งก็กลับเป็นขณะที่ไม่คงที่ ความสมดุลจึงเป็นความนิ่งความคงที่ ในระบบที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อจัดสมดุลใหม่นั่นเอง หนังสือเล่มนี้นำเสนอเทคนิคการสอนที่ถอดบทเรียนของครูต้นแบบ และนำเสนอตัวอย่างโครงงานที่สร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลง (transform)ผู้เรียนให้เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (มกราคม 2559)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 23 MB) ←
ถามคือสอน 2 กระบวนการพัฒนาครูเพื่อสอนคิด
หนังสือ “ถามคือสอน” เล่มแรกได้อธิบายว่าทักษะนี้คืออะไร เกี่ยวกับหน้าที่ครูในการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) อย่างไร แต่ยังค้างคาว่าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจะพัฒนาครูได้อย่างไร? เป็นเวลาเกือบปีครึ่งที่ผมทำความเข้าใจกระบวนการคิดถอยหลังและถามเดินหน้า (backward thinking and forward questioning) และออกแบบกระบวนการพัฒนาครูให้เข้าใจจนนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ผมเขียนเป็นหนังสือประเภทถอดความรู้ โดยใช้กระบวนการ backward thinking ของผู้ที่จะเป็น coach ความคิด หนังสือนี้มี 4 บท ที่ถอดความรู้มาจากการฝึกครู ประกอบด้วย.-
1) หลักการ Socratic Teachingกับเพาะพันธุ์ปัญญา
2) ถามคือสอนแบบเพาะพันธุ์ปัญญา
3) หลักการเกิดbackward thinking และ forward questioning และ
4) การฟังของครู
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (พฤศจิกายน 2558)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 19 MB) ←
สะเต็มศึกษา: ความท้าทายใหม่ของการศึกษาไทย
เมื่อมีคนพยายามพัฒนาการสอน STEM ให้การศึกษาไทย ผมกลับเห็นต่างในความหมาย STEM ในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการสอนและสาระวิชา ผมจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ ข้อความที่พอจะสรุปเป็นใจความสำคัญคือ
“….STEM ไม่ใช่การศึกษาประเภทท่องนิยามความรู้ ไม่ใช่การศึกษาที่แยกส่วน ที่แยก S ออกจาก M แยก E ออกจากS และ M และเข้าใจ T ว่าเป็นคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ แต่เห็นความสัมพันธ์ของ E และ T ที่ทำงานร่วมกัน เพื่อเอา S ในรูป Mมาจัดให้เป็น T ตัวใหม่….”
เป็นบทสรุปที่เข้าใจเมื่ออ่านทั้งเล่ม แล้วจะทราบว่าผมเข้าใจ STEM education อย่างไร ต่างจากที่ครูได้รับผ่านการอบรมอย่างไร หนังสือมี 6 ตอน คือ
1) ความเข้าใจ STEMที่เป็นอยู่
2) STEM ที่คิดแบบวิศวกร
3) ทำสิ่งที่หลงคิดว่าเป็น STEM ให้เป็น STEMได้อย่างไร
4) อะไรทำให้ครูสอน STEM ได้
5) STEM ในความคิดโลกวิทยาศาสตร์เชิงกลไก และ
6) บทสรุป
ทั้ง 6 ตอนเป็นมุมมองของวิศวกรที่สนใจการศึกษา และเชื่อโดยสนิทใจว่า STEM คือทิศทางการสอนยุคใหม่ที่สามารถใช้concept ของ E มาบูรณาการการทำโครงงานได้ แต่ต้องเข้าใจอย่างที่ผมเขียนในหนังสือนี้
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (ตุลาคม 2558)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 24 MB) ←
หลักการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล
กระบวนการคิดที่สำคัญในการสร้างปัญญาให้แก่ตนเองคือ คิดวิเคราะห์และคิดสังเคราะห์ คนจำนวนมากแยกความคิดทั้ง 2 ประเภทออกจากกันไม่ได้ คือไม่รู้ว่าตอนไหนกำลังใช้ความคิดอะไรอยู่ นอกจากนั้นหลายคนติดการท่องนิยามว่า “วิเคราะห์ คือ…. สังเคราะห์ คือ ….” หนังสือเล่มนี้เขียนให้ครูเข้าใจว่าการคิดวิเคราะห์-สังเคราะห์มีขั้นตอนอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความหมายจากข้อมูล ผมเขียนโดยตั้งใจให้เป็นหนังสือที่ครูและนักเรียนใช้ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากการทำโครงงานฐานวิจัย เพื่อให้ข้อมูลมีความหมายมากกว่าที่ตาเห็น เมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลจากการทำงานถูกสังเคราะห์ให้มีความหมายที่ลึกซึ้ง เมื่อนั้นคือการเกิดของปัญญาด้วยตนเอง หนังสือมี 2 ตอน ตอนที่ 1 เป็นกระบวนการฝึกตนเองจากข้อมูลตัวอย่าง ตอนที่ 2 เป็นการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลของผมเอง แล้วถอยออกมาถอดความคิดให้ผู้อ่านทราบว่าความคิดที่ได้ความหมายข้อมูลเช่นนั้นเกิดได้อย่างไร เรียกว่าเป็นการทำ KM (knowledge management) กับตัวเอง
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (มิถุนายน 2558)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 7 MB) ←
ฤดูกาลเรียนรู้ที่แจ้ห่มวิทยา
โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา (ลำปาง) คือความอัศจรรย์ในความสำเร็จ เป็นตัวอย่างการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายโรงเรียน ขณะที่ทำโครงงานขนาดใหญ่ ทั้งนักเรียนและครูต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ไม่เว้นแม้แต่กับคนรอบข้าง แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษของครู ความสำเร็จระดับน่าอัศจรรย์จึงเป็นจริง หนังสือน่าอ่านเล่มนี้ตีความพัฒนาการของครูและนักเรียนที่เกิด transformative learning จาก diary หลายเล่มที่ครูและนักเรียนบันทึกระหว่างการเรียนรู้ เป็นหนังสือที่ผู้อ่านบางคนยอมรับว่าตื้นตันใจจนน้ำตารื้นจนแทบอยากกราบครู
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (มีนาคม 2558)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 17 MB) ←
สะท้อนคิดคือเรียน: ความรู้สึกในความงามที่ผลิบาน
หาก “ถามคือสอน” การเรียนก็ต้องมาจากการสะท้อนคิดของผู้เรียนเอง การสะท้อนคิดเป็นการเรียนรู้อีกมิติหนึ่งที่ไม่ใช่สาระวิชาการ ไม่ใช่เพื่อสอบ O-Net แต่เป็นการเรียนรู้โดยการหันมาพิจารณาตนเอง พิจารณาอย่างใคร่ครวญกับสิ่งที่ตนเองประสบ (self-reflection) จึงเป็นการเรียนรู้จากภายในอย่างลึกซึ้ง เหมาะกับการเรียนรู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง (transformative learning) โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาสนับสนุนให้นักเรียนเขียนบันทึกการเรียนรู้ตลอดการทำงาน หนังสือเล่มนี้เป็นการตีความการเรียนรู้ของนักเรียนโดยพี่เลี้ยงทั้ง 8 ศูนย์ หากคำว่า”ลูกศิษย์” หมายถึงนักเรียน หนังสือนี้เหมาะสำหรับครูที่จะใช้เป็นแนวทางเพื่อเข้าใจลูกศิษย์ในฐานะ “ลูก” สำหรับครูที่ต้องการปรับมุมมองและการทำงานของตนเอง ก็สามารถอ่านเพื่อเข้าใจในฐานะ “ศิษย์” ได้เช่นกัน ที่สำคัญคือเข้าใจตนเองในฐานะ “ครู” ในศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ใช่ผู้สอน แต่อำนวยการเรียนรู้ของลูกศิษย์
ครู นักเรียน พี่เลี้ยง โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (มีนาคม 2558)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 35 MB) ←
เทคนิคกระบวนการ Active Learning: จากการประเมินสู่พัฒนาการเรียนรู้
Active Learning เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้เอง ดังนั้นครูต้องรู้จักกระบวนการห้องเรียนที่ทำให้นักเรียน engage กับการเรียนของตน ถือเป็นclassroom skill ของครูยุคใหม่ หนังสือนี้รวบรวมกระบวนการต่างๆ โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช ให้คัดบางตอนจากบันทึกเรื่อง “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ” ที่ท่านเขียนใน www.gotoknow.org มาพิมพ์เพื่อแจกครูเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นการเฉพาะ
วิจารณ์ พานิช (กรกฎาคม 2557)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 3 MB) ←
ถามคือสอน ทักษะประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
“ถามคือสอน” เป็นวาทกรรมของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่ต้องการเปลี่ยนครูให้เป็นผู้ถามให้นักเรียนรู้เองจากการคิด การเป็นครูตั้งคำถามให้นักเรียนรู้โดยการร้อง“อ๋อ” ได้เองเป็นเรื่องยาก เพราะครูต้องวิเคราะห์คำตอบของนักเรียนมาเป็นคำถามอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้บริบทของนักเรียน จึงจะดึงเรื่องใกล้ตัวมาเป็นตัวอย่างการถามได้ หนังสือเล่มนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกเขียนแบบเล่าเรื่องตัวอย่างการใช้เทคนิค “ถามคือสอน” ที่ผมมีประสบการณ์ทำกับนักเรียนและครูในโอกาสต่างๆ มี 9 ตอนที่เป็นการถามด้วยเทคนิคต่างๆ ส่วนที่ 2 เป็นการตีความ embedded formative assessment จากบันทึกของ ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช เพื่ออธิบายว่าปฏิบัติการ “ถามคือสอน” สอดคล้องกับ EFA อย่างไร
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (มิถุนายน 2557)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 5 MB) ←
รอยจารึกบนเส้นทางเพาะพันธุ์ปัญญา
ปีแรกของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นปีแห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคนที่ร่วมในกระบวนการ ผมมีหน้าที่ coach พี่เลี้ยง ตอบคำถาม ปลุกเร้าการทำงาน จึงจำเป็นต้องรักษาไฟการทำงานให้ลุกโชนต่อเนื่องไว้ เพราะผมทราบดีว่าความสำเร็จอยู่ที่การเกาะติดงานอย่างต่อเนื่องของพี่เลี้ยง ซึ่งจะทำให้โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาต่างจากโครงการพัฒนาอื่นที่ทำระยะสั้น เสร็จแล้วทิ้งหายไป เมื่อครูมีปัญหาตอนเอาไปทำต่อก็ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร เนื่องจากพี่เลี้ยงอยู่กระจัดกระจาย จึงเป็นข้อจำกัดของการใส่ความคิดการทำงานที่พี่เลี้ยงinterface กับครูและนักเรียน ผมจึงเขียนเป็นบทความสั้นจากประสบการณ์ที่ผมเดินทางไปรับรู้งานตามศูนย์ต่างๆ ส่งให้พี่เลี้ยงอ่านและเรียนรู้ หนังสือเล่มนี้มี 2 ตอน โดยตอนแรกเป็นการรวบรวมบทความจำนวน 47 บทความของผมเอง ตอนที่ 2 เป็นข้อเขียนประสบการณ์การทำงาน 1 ปี ของพี่เลี้ยงทั้ง 8 ศูนย์ หนังสือนี้จึงเหมาะสำหรับผู้อ่านที่ต้องการทราบเบื้องหลังและแนวคิดการทำงานโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (มกราคม 2557)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 11 MB) ←
หลักการเขียนบทความวิชาการ หลักคิดเพื่อเมล็ดพันธุ์โครงงานฐานวิจัย
ทักษะการนำเสนอผลงานวิชาการโดยการเขียนสำคัญกว่าการพูดมาก เพราะผู้เขียนต้องกลั่นกรองความคิดมาเขียน ระหว่างเขียนต้องหาคำอธิบายที่เอาสาระวิชามาสนับสนุนให้ผู้อ่านเชื่อในสิ่งที่ผู้เขียนวิเคราะห์-สังเคราะห์ได้ การเขียนจึงเป็นกระบวนการที่สร้างทั้งความคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ แต่ครูและนักเรียนขั้นพื้นฐานมีจุดอ่อนในการเขียนงานวิชาการ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจึงผลิตหนังสือเล่มนี้ออกมาให้อ่านง่าย ให้หลักการเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เอง หนังสือแบ่งออกเป็น 4 บท ได้แก่ 1) ภาษากับความเป็นวิชาการ 2) หลักการเขียนบทความวิชาการ 3) ศิลปะการเขียนบทความวิชาการ และ 4) การสร้างเครื่องมือฝึกตนเอง มีภาคผนวกให้เห็นตัวอย่างของการเขียนงานวิชาการ 4 ชนิด ได้แก่ งานวิจัยเชิงวิเคราะห์และคำนวณ งานเชิงทดลองวิทยาศาสตร์ งานทำสิ่งประดิษฐ์ และงานเชิงข้อมูลสำรวจ ปิดท้ายด้วยตัวอย่างการ edit บทความวิชาการให้รู้ว่าการเขียนที่ดี (จากการแก้ไข) เป็นอย่างไร
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (ธันวาคม 2556)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 3 MB) ←
แนวคิดโครงงานฐานวิจัยเศรษฐศาสตร์สำหรับนักเรียน
หากต้องการให้การทำโครงงานสอดคล้องกับชีวิตจริง นักเรียนต้องบูรณาการสาระวิชาสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงงานฐานวิจัย หนังสือเล่มนี้อธิบายหลักการเศรษฐศาสตร์ในชุมชนให้นักเรียนเข้าใจความสัมพันธ์และความสมดุลระหว่างทรัพยากร อาชีพ และการไหลของเงินที่เกิดจากกิจกรรมเศรษฐกิจของชุมชน นักเรียนจะได้เข้าใจความเกี่ยวพันของเศรษฐกิจจุลภาค (ครัวเรือน) กับมหภาค (ชุมชน) และการพึ่งพิงแบบเครือข่ายเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดูเหมือนเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่การเขียนจะตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน จึงอ่านง่ายทั้งครูและนักเรียนแม้จะไม่มีพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ก็ตาม
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (กรกฎาคม 2556)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 2 MB) ←
หลักการเขียนข้อเสนอโครงงานฐานวิจัย
การเขียน proposal งานวิจัยแบบเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นเรื่องใหม่สำหรับครู สพฐ. เพราะเราใช้หลักคิด “ผลเกิดจากเหตุ”มาเป็นแกนของสมมุติฐาน และต้องการให้นักเรียนทำวิจัยที่ค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถอธิบายหรือบูรณาการสาระวิชาที่เรียนได้ ผมจึงเขียนหนังสือเล่มนี้เตรียมไว้ให้พี่เลี้ยงทำความเข้าใจก่อน และกระจายให้ครูในโครงการทุกคน หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาประกอบด้วย หลักการของโครงการเพาะพันธ์ปัญญา หลักการทั่วไปของการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย แล้วแบ่งออกเป็นการเขียนโครงงานประเภทวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ โดยมีภาคผนวกเป็นตัวอย่าง
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (พฤศจิกายน 2555)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 1 MB) ←
โครงงานฐานวิจัย: กระบวนการเรียนรู้ใหม่ของการศึกษาไทย
เป็นหนังสือเล่มแรกที่เขียนก่อนเริ่มโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ผมเขียนจากการตกผลึกที่พยายามอธิบายว่าวิจัยคือกระบวนการของการศึกษา เพราะสร้างกระบวนการคิดอย่างมีเหตุ-ผลมีตรรกะ เขียนสำหรับเตรียมพี่เลี้ยงให้เข้าใจการศึกษาที่ใช้โครงงานฐานวิจัยเป็นเครื่องมือ หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ
ตอนที่ 1 ทำไมต้องโครงงานฐานวิจัยเนื่องจากเป็นคำใหม่ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา จึงต้องอธิบายตั้งแต่ทฤษฎีการศึกษาแบบต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าในที่สุดแล้วการศึกษาต้องพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียน และควรเปลี่ยนการทำโครงงานที่ทำอยู่ให้เป็นโครงงานฐานวิจัย
ตอนที่ 2 การเรียนรู้บนฐานวิจัย (RBL)ในโรงเรียน อธิบายการเรียนรู้จากระบบคิดเหตุ-ผล จิตตปัญญาศึกษา และ PLC ที่เป็นเครื่องมือหลักของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ปิดท้ายตอนนี้ด้วย RBL ที่สอดคล้องกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ตอนที่ 3 วิธีการของโครงงานฐานวิจัยในโรงเรียน เพื่อให้ครูเพาะพันธุ์ปัญญาเข้าใจว่าการทำโครงงานฐานวิจัยประกอบด้วยอะไรบ้าง มีความต้องการพิเศษในการเตรียมครูและนักเรียนอย่างไร บทนี้จึงกล่าวถึงการหาโจทย์ที่เป็นโครงงานฐานวิจัยและกระบวนการพัฒนาครูที่โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจะจัดให้
สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ (ตุลาคม 2555)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 2 MB) ←
เรื่องเล่าครูและนักเรียนโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาปีที่ 1
เราจะเห็นงานจำนวนมากใช้ความสะดวกในการประเมินผลมาออกแบบหาข้อมูลอธิบายความสําเร็จซึ่งหนีไม่พ้นแบบสอบถามปลายปิด ที่ให้ตัวเลขเชิงปริมาณ แต่โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเชื่อว่า การหาคำตอบอธิบายความสำเร็จของงานที่ทำคงไม่มีอะไรดีไปกว่าให้ผู้ทำเป็นคนอธิบายเอง และการอธิบายคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเล่าสะท้อนความรู้สึกส่วนลึกที่ผู้ปฏิบัติได้หรือรู้ว่าเกิดขึ้นแล้วกับตนเอง
หนังสือเล่มนี้รวบรวมความรู้สึกนึกคิดของครูและนักเรียนโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่สะท้อนออกมาให้เรา “ตีความ” ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการได้ลงมือทำวิจัยเล็ก ๆ ของตนเอง เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการลงมือทำ สิ่งที่เกิดจึงเป็น “การเฉพาะตน” หรือที่ภาษาพระท่านเรียกว่า “ปัจจตัง” เป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตนเท่านั้น
ครูและนักเรียน โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (มีนาคม 2557)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 6 MB) ←
รู้จักโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
# อะไรคือเพาะพันธุ์ปัญญา
# กระบวนการทำงานของเพาะพันธุ์ปัญญา
# ตัวอย่างหลักสูตรเพิ่มเติมสถานศึกษาวิชาเพาะพันธุ์ปัญญา รายวิชา “โครงงานฐานวิจัยจากการใช้ชีวิตจริง”
หน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 2.8 MB) ←
ส่วนที่ 2: หนังสือจากศูนย์พี่เลี้ยงฯ และครูแกนนำเพาะพันธุ์ปัญญา
ทางของผึ้ง : ปลุก Passion ความเป็นครู
ผมลงมาบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา จ.ราชบุรี พบว่าการเป็นครูประจำในโรงเรียนรัฐบาลแตกต่างจากการเป็นครูอาสาอย่างสิ้นเชิง ผมใช้เวลานานหลายเดือนในการปรับตัว จนมีโอกาสได้รู้จักกับกลุ่มครูเพาะพันธุ์ปัญญาจากการแนะนำของครูผู้มากประสบการณ์ท่านหนึ่ง ลักษณะการจัดกิจกรรมของครูในโครงการนี้เหมือนกับที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ผมไปอยู่ คือเปิดโอกาสให้ครูและเด็กนักเรียนได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกัน และที่สำคัญเด็กเรียนรู้จากการลงพื้นที่จริง ปฏิบัติจริง ต่อมามีพี่ที่รู้จักในโครงการได้แนะนำให้ผมเข้าร่วม PLC ออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์จากการจัดการเรียนการสอนแบบเพาะพันธุ์ปัญญา หนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้จึงได้เกิดขึ้น สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ การตีความและมวลประสบการณ์ทั้งหมดจากการเริ่มเป็นครูมาได้ 3 ปี แต่ตั้งเป็นครูอาสาจนถึงการมาบรรจุในโรงเรียนรัฐบาล ถูกถ่ายทอดไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมหวังว่าเรื่องราว ประสบการณ์และการถอดประเด็นในการเรียนรู้เหล่านี้จะมีประโยชน์ในการสร้างห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความสุขในการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ทุกคน
ณัฐวุฒิ แฝงนาง
ครูเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา จ.ราชบุรี
ศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มูลนิธิปัญญาวุฑฒิ
(สานต่อเจตนารมณ์จากศูนย์พี่เลี้ยงฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 19.4 MB) ←
เรื่องเล่าจากครูเจ้ง
ด้วยบริบทของโรงเรียน ธรรมะได้จัดสรรให้ครูเจ้งรู้จักชุมชน ได้คว้ามาเป็นโอกาสสร้างการเรียนรู้ผ่านโครงงานต่าง ๆ แล้วหลังจากนั้นครูเจ้งก็หลงไหลโครงงานเกี่ยวกับชุมชน เพราะครูได้เรียนรู้ไปพร้อมกับการทำงานของนักเรียน หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้คุณค่าของชุมชนในการสร้างการเรียนรู้แก่นักเรียน แน่นอนว่าไม่ใช่เพื่อการทำข้อสอบ O-Net แต่เป็นการเรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เกิดจากการทำโครงงานฐานวิจัยแบบเพาะพันธุ์ปัญญา
(ความตอนหนึ่งจากคำนำโดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา)
กัญจนา อักษรดิษฐ์
ครูเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนเทิงวิทยาคม จ.เชียงราย
ศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มหาวิทยาลัยพะเยา
อ่านออนไลน์ ←
ดาวน์โหลด (PDF ขนาด 4.5 MB) ←
เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงเติบโต : การเปลี่ยนแปลงของครูเรวดี
ผมรู้จักครูเรวดีตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มีข้อเขียนของครูที่บันทึกสะท้อนคิดการเรียนรู้จาก Workshop แรกว่า “…รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือสิ่งที่มีอยู่เดิม แต่ถูกจัดกรอบให้ดีขึ้น รู้สึกอยากทำงาน อยากแบบออกแอบบวิจัย อยากเริ่มต้นทำงาน ณ ตอนนี้จินตนาการไปถึงงานในอนาคต รู้สึกมีความสุขมาก ได้พลังสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เป็นความรู้สึกลุยโถมเข้าหางานอย่างสนุก … ขอบคุณความรู้ที่ดี ๆ ที่ได้รับตลอดการอบรม รู้สึกมีความสุขที่ได้ร่วมโครงการ และอยากจะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ … โครงการนี้ชุบชีวิตแห่งการทำวิจัยของฉันให้ฟื้นคืนชีพ ขอบคุณโครงการนี้ที่นำชีวิตแห่งการทำวิจัยที่แท้จริงให้กลับมา เพื่อจะได้นำสู่กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ …”
ผมอ่านความรู้สึกตื่นเต้น ความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในบันทึกนี้ และเฝ้าติดตามดูอยู่ห่าง ๆ ผมพบครูอีกครั้งในปีที่ 2 สังเกตไม่มีความสุขในการทำโครงงานเพาะพันธุ์ปัญญาเท่าที่ควร สืบเรื่องราวจากพี่เลี้ยงจึงทราบว่าเกิดบางอย่างไม่พึงประสงค์ที่โรงเรียน นึกเสียดาย แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้นอกจากกำลังใจ ครูเรวดีกลับมาเป็นครูเพาะพันธุ์ปัญญาคนเดิมอีกครั้งในปีที่ 3 คราวนี้ผมรู้จักครูมากขึ้นจากผลงานเขียนหนังสือเล่มนี้